วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

“วิชาสุดท้าย (ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)” เป็นชื่อที่ต้องยอมรับว่าเพียงแค่เห็นหรือได้ยินก็ “โดน” แถมมันยังความสงสัยใคร่รู้ให้กับฉันอย่างมากว่ายังมีอีกหนึ่งวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้นำไปใส่ไว้ในหลักสูตรอีกหรือนี่ ! กอปรกับคำถามในใจที่ยังไม่รู้ว่าจะได้อะไรจากสุนทรพจน์สองร้อยหน้าในมือต่อจากนี้

เพียงบางเบาที่ได้รู้จากคำนำของผู้แปลในครั้งแรกว่าหนังสือเล่มนี้ล้วนเต็มไปด้วยคำกล่าวสุนทรพจน์ในวันรับปริญญาเพื่อนักศึกษาปีสุดท้าย จากหลากหลายมหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงในอเมริกาที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน กระทำการโดย “คนใน” อย่างอธิการบดี ที่เปิดใจให้ “คนนอก” อันเป็นผู้มีชื่อเสียงในสาขาอาชีพต่างๆ มากล่าวสุนทรพจน์ในวันจบปริญญาให้นักศึกษาที่กำลังจะจบรุ่นปีการศึกษานั้นๆ ฟัง โดยหมุนเวียนกันตามโอกาสและวาระอันสมควร

เมื่อได้เริ่มลงมืออ่านก็ต้องบอกว่าแทบจะวางไม่ลง และเริ่มจะต่อติดสัญญาณคุณภาพขึ้นในใจมานิดๆแล้วจากการที่สำนักพิมพ์และผู้แปลได้พยายามเป็นอย่างยิ่งในการถ่ายทอดออกมาอย่างทุ่มเท ด้วยการตัดสินใจพิมพ์เนื้อหาชีวิตของผู้มีชื่อเสียงในแต่ละวงการ อันแตกต่างกันไปในสาขาอาชีพแห่งประเทศเสรีภาพอย่างอเมริกา ทำให้เนื้อหาในเล่มอัดแน่น ครอบคลุมและครบถ้วนอย่างลงตัว

สตีฟ จ๊อบส์ (Steve Jobs) ไม่ได้จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยใด แต่เป็นผู้สร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตัวแรกในโรงรถที่บ้าน จนกลายเป็นตำนานแห่งคอมพิวเตอร์นาม “แมคอินทอช” หรือ บิล เกตส์ (Bill Gates) ลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ “ไมโครซอฟท์” ผลิตซอฟท์แวร์ที่มีผู้นิยมใช้ทั่วโลก แต่สุดท้ายเขาได้ลาออกจากงานประจำเพื่ออุทิศตนให้แก่งานการกุศลอย่างเต็มตัว

เพียง 2 คนตัวอย่างจากผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาชีพที่น่าสนใจของคนทั้ง 10 แห่งยุค ที่มีผู้คนรู้จักมากที่สุด ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจขึ้นมาแล้ว ยิ่งแนวทางซึ่งแต่ละคนต่างก็มีชีวิตที่อัดแน่นไปด้วยประสบการณ์อย่างแท้จริง ก็ยิ่งเป็นตัวชูโรงให้กับฉากม่านที่กำลังจะเปิดตัวท่านผู้กล่าวคนต่อไป จนทำให้ผู้อ่านอย่างฉันชักสนุกที่จะติดตามว่าวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนสำหรับแต่ละท่านจะออกมาในลักษณะใดกันแน่

แต่ละท่านทำการลองผิดลองถูกด้วยการเอาตัวเข้าแลกกับความไม่รู้เกี่ยวกับอนาคตที่ไม่เคยเป็นปัจจุบัน และ การใช้ชีวิตทั้งชีวิตเล่าเรื่องเพื่อเป็นอุทาหรณ์และวิทยาทานต่อคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะก้าวข้ามความเป็นวัยรุ่นสู่ผู้ใหญ่ที่อาจยังไม่รู้ทิศทางไป โดยน้อยคนนักที่จะยอมรับและเปิดใจถึงเล่าช่วงชีวิตที่มีทั้งดีและร้าย แต่ในท้ายที่สุดผู้กล่าวก็เลือกให้ตนเองตกเป็นประโยชน์ต่อโลกและสังคมได้อย่างไร้ข้อกังขาใดๆ

สุนทรพจน์จากชีวิตและคราบน้ำตาของผู้กล่าวแต่ละท่าน แตกต่างและประกอบไปด้วยมุมมองอันดีที่มีต่อตัวเองและสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะด้วยความสนุกให้กับชีวิตที่ผิดพลาด ส่งมอบความเจริญด้วยน้ำจิตน้ำใจที่ใสสะอาด การให้ที่เต็มเปี่ยมแม้ในวันที่ชีวิตเกิดข้อพิพาท หรือมือที่เรียกร้องป่าวประกาศหาความยุติธรรมให้สังคมอื่นที่รอคอย เมื่อแต่ละท่านก็ได้ลงมือใช้ชีวิต ชีวิตมันก็ส่งผลตามมาอย่างที่ได้กล่าว
สุนทรพจน์ออกไป เลยรู้ได้ว่าทุกคนเต็มที่และสนุกกับชีวิตของตัวเองอย่างที่กล่าวออกมาอย่างจริงใจจริงๆ

ผู้กล่าวสุนทรพจน์ได้ทำการส่งซิก (signal) ให้นักศึกษาว่าผ่านวิชาสุดท้ายของแต่ละท่าน ว่าจะทำย่างไรให้ตนเองประสบความเร็จ ทำให้อย่างไรเมื่อตนเองผิดพลาดแต่ก็สามารถอยู่กับมันได้อย่างไม่ขลาดเขลา และบอกแม้กระทั่งว่า ถ้าคุณทะเยอทะยานในด้านใด มันก็ล้วนแล้วแต่จะส่งผลให้คุณเป็นไปในด้านนั้นอย่างแน่นอน

ฉันเล็งเห็นแล้วว่าสุนทรพจน์เล่มนี้มี “ทุกอย่าง” ที่ควรมีแล้วอย่างครบถ้วน เข้าถึงและง่ายต่อการเข้าใจ และหากในฐานที่คุณเป็นมนุษย์ ฉันก็เห็นว่ามันต้องมีสักเรื่องที่เราสามารถหยิบจับมาเป็นต้นแบบใช้งานได้ไม่มากก็น้อยตามวัตถุประสงค์ของหนังสือที่ปูทางไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นปรัชาในการมองโลก สังคม เพื่อนมนุษย์ โดยไม่ลืมที่จะให้ปรัชญาชีวิตแก่ตนเองเฉกเช่นกัน

ต้องถือว่าการปรากฎตัวของหนังสือ “วิชาสุดท้าย(ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)” เล่มนี้ ออกจะฮือฮามิใช่น้อยสำหรับนักอ่านตัวยง ด้วยความที่หนังสือไม่ได้ออกตัวมาแต่ต้นว่าตั้งใจจะมอบอะไรให้แก่ผู้อ่าน มันเลยสนุกที่จะสานต่อแรงบันดาลใจของผู้ถ่ายทอด เพื่อจะก่อให้เกิดกองกำลังสำคัญแห่งโลกคุณภาพ อันเป็นการยืนยันว่า แม้โลกจะหมุนไปเกินกว่า 360 องศาขนาดไหน สุดท้ายโลกก็จะกลับมาขอรับสิ่งที่คุณหยิบยื่นให้อยู่ดี

หากตอนนี้คุณเองยังคงประสบปัญหาเพราะไม่รู้ว่าจะหาแรงบันดาลใจให้ตัวเองไปในทิศทางไหน และอยากได้อะไรสักอย่างที่จะเป็นผลดีต่อหัวใจ และไม่อยากให้ใบปริญญาเป็นกับดักที่จะทำให้ชีวิตคุณหมดคุณค่า สงสัยว่าได้เวลาที่คุณคงต้องเปิดใจแล้วเดินหน้าไปหา “วิชาสุดท้าย (ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)” มาอ่านสักเล่มได้แล้ว

เพราะสำหรับฉันแค่ได้ “ เอ่ย “ขอบคุณ” ทุกครั้งที่มีโอกาส ดึงกระดาษทิชชู่ให้พอดี ปิดไฟทันทีที่เลิกใช้ เลือกให้ทานเป็นนิจ และลดจริตเรื่องโกรธเกรี้ยว ” ก็รู้สึกว่าชีวิตได้เลี้ยวเข้าสู่ “วิชาสุดท้าย(ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)” ไปนิดๆ แล้วเช่นกัน