วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ถั่วงอกกับหัวไฟ : โลกใบใหม่บนลายเส้น

หากภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณเคยเปิดอินเตอร์เน็ต แล้วพิมพ์ชื่อ ทรงศีล ทิวสมบุญ ลงช่องไฟในเวปไซด์ Google แล้วล่ะก็ เชื่อขนมกินได้เลยว่า 21 หน้าของชื่อนี้ และอีก 26 หน้าของคำว่า “ถั่วงอกกับหัวไฟ” หาใช่อะไรไม่ เพราะนั่นคือที่มาของ “การ์ตูนนัวร์แบบไทย” กับการสวมหมวกอีกใบที่น่าจับตามองของ ทรงศีล ทิวสมบุญ

“การ์ตูนก็ไม่ใช่ นิยายก็ไม่เชิง” อ้างอิงจากปลายปากกาของบรรณาธิการรุ่นใหม่ ทรงกลด บางยี่ขัน ที่ต้องบอกว่าเป็นอีกคนที่ช่างขยันสรรหาและผลักดันนักเขียนหน้าใหม่เข้าสู่วงการวรรณกรรมไทยพร้อมกับการฝากความหวังไว้ให้พวกเขายอมเปิดใจมอบความหมายในชีวิตที่ “สด” และ “ใหม่” ด้วยอิสระแห่งวัยในการสร้างสรรค์ในแบบที่ไม่มีใครกล้าเปิดใจมาก่อน

ถั่วงอกกับหัวไฟ (Beansprout & Firehead) คือผลพวงต่อเนื่องมาจาก Improvise ผลงานนิยายภาพเล่มแรกที่ทรงศีลเปิดตลาดนักอ่านร่วมสมัยเอาไว้ได้อย่างสวยงามในนามสำนักพิมพ์ a book เมื่อความนัวร์ ของ “ถั่วงอก” ออกมาเรียกเสียงฮือฮา กอปรกับส่วนผสมแห่งลูกบ้าของ “หัวไฟ” พอไปรวมกับความสดชื่นสดใสของ “บุบบิบ” จึงทำให้เกิดการไหลย้อนกลับมาของวงจร “น้อยแต่มาก” ให้กลับสู่สังคมของคนอ่านรุ่นใหม่ได้อย่างท้าทายเหลือใจ

ชีวิตของทั้งสามตัวละครถูกเลือกให้เล่าผ่านมุมมองของถั่วงอก ซึ่งไม่ประสีประสาต่อโลกภายนอกรั้วสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ตนเติบโตมา ทำให้ “ระหว่างทาง” ของถั่วงอก กลายเป็นความแปลกใหม่ โดยเฉพาะการที่ได้เพื่อนร่วมชะตากรรมที่เต็มไปด้วยลูกบ้าแบบสุดโต่งและแรงสมชื่อ “หัวไฟ” ที่มาพร้อมสุนัขคู่ใจในแบบของ “บุบบิบ” จนทำให้ “การ์ตูนก็ไม่ใช่ นิยายก็ไม่เชิง” เล่มนี้ มี “ทาง” เป็นของตัวเองที่ผู้คนยังคงให้ความสนใจอย่างล้มหลามและออกตามถามหากันอย่างไม่ขาดปากจนถึงตอนนี้

ด้วยความที่ลายเส้น ดำ ทึบ ทึม นัวร์ เป็นส่วนผสมหลักของคาแรคเตอร์ ที่เรียกว่าแค่แปลกตายังไม่พอเพราะความต่างของคาแรคเตอร์แต่ละตัวก็ยังซับซ้อนไม่แพ้กัน อีกทั้งเรื่องราวที่ชวนฉงน บวกด้วยความที่ตัวละครมีที่มาเพียงน้อยนิด ความสนุกของการค้นหาจึงเริ่มเดินทาง ประหนึ่งว่า การร่วมหัวจมท้ายก็เปรียบได้กับการที่ทั้งสามชีวิตได้เวลาที่จะต้อง “กินข้าวหม้อเดียวกัน” แล้วนั่นเอง

การดำเนินเรื่องเป็นไปเหนือการคาดเดา จากความที่ทรงศีลวางหมากไว้ ให้เราๆ ติดตามตอนต่อไปแบบไม่พลาดโอกาสที่จะทำให้เรางงงวย เลยพาลทำให้ผู้เขียนกลายเป็นเด็กช่างสงสัยไม่ต่างไปจาก “ถั่วงอก” ที่กำลังมีต่อโลกใบใหม่ที่ตนเองกำลังต้องเผชิญชะตากรรม กลายเป็นว่าจนถึงตอนนี้ผู้เขียนเองก็กำลังลุ้นและต้องการคำตอบจาก “หัวไฟ” ว่าจะพาไปพบเจออะไรอีกในพื้นที่โลกข้างหน้า ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากความสงสัยที่ถั่วงอกมีอยู่ในใจเช่นกัน

เมื่อความหม่นเศร้ากลายเป็นสิ่งสวยงาม การได้อ่าน “ถั่วงอกกับหัวไฟ” เล่มนี้ ก็ไม่ต่างไปจากการนั่งดูหนังชีวิตของใครสักคน รอยยิ้มเล็กๆ และเสียงหัวเราะเบาๆ สายตาที่หม่นเศร้าต่างเกิดขึ้นเองตามอัตภาพของบทตอน และบางทีก้อนสะอื้นก็เอ่อท้นมาจุกอยู่ในลำคอ แต่ก็ไม่ได้มีผลถึงขั้นทำให้ผู้เขียนยอมละสายตา กลับยิ่งทำให้รับรู้ว่าแม้ทั้งสามตัวจะเป็นแค่ตัวละครในฉากชีวิตเล็กๆ ที่ไม่ได้จงใจบอกอะไร แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้จากทุกฉากในหน้าถัดไปจะกลายเป็นคำตอบตัวเองที่กำลังค้นหา แถมยังถอนตัวออกมาไม่ได้กับคำถามที่ทั้งสามแอบตั้งทิ้งไว้ให้ในฉากต่อไปอีกด้วย

ในเชิงตื้น “ถั่วงอกกับหัวไฟ” ให้ความบันเทิงและความ “สด” “ใหม่” เป็นที่ตั้ง การได้เห็นลายเส้นที่แตกต่าง แปลกตา ช่วยปลุกชีวิตและเพิ่มชีวาให้แวดวงวรรณกรรมของไทยได้เป็นอย่างดี และเหมือนช่วยฟื้นฟูพลังให้กับนักเขียนไทย เรียกสตินักอ่านไทยให้กลับมาอ่านงานเขียนที่เล่าเรื่องอย่างไทยได้แล้ว เวลาไปไหนมาไหนจึงเหมือนได้พกพาความรู้สึกภาคภูมิใจไปด้วยทุกครั้งที่มีคนกล่าวขวัญหรือแอบชื่นชมให้ได้ยิน

ในเชิงลึก การออกมาแสดงตัวของ “ถั่วงอกกับหัวไฟ” ในวันที่กระแสแห่งการ์ตูนญี่ปุ่น เกาหลี หรือบรรดาเหล่าการ์ตูนแอนนิเมชั่นของฝรั่งตาน้ำข้าว ชาวผิวสี ที่กำลังเข้าครอบงำวัฒนธรรมการอ่านและความเชื่อของคนไทยให้ไหลไปตามครรลองแห่งโลกตะวันตก ทรงศีล จึงเปรียบได้ดั่งอาชาไทยสายพันธุ์ดี ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยลักษณะที่พรั่งพร้อม องอาจ สง่างาม มั่นใจ และมั่นคง แฝงไว้ด้วยพลังที่มาพร้อมการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ในเชิงลึกลงไปอีกขั้น ทรงศีล สร้าง “ถั่วงอกกับหัวไฟ” ขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งตัวแทนของเด็กเร่ร่อน เด็กที่ด้อยโอกาสในสังคมไทยที่ผู้เขียนคงจะพูดได้เต็มปากว่า “มีอยู่” และจะไม่มีวันหมดไป หากแต่รอวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยซ้ำ หากเรายังไม่เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ยอมรับ ช่วยเหลือ ร่วมมือกันแก้ไข ฝึกการพัฒนาจิตใจของผู้ที่มีความสามารถในการ “ให้” ช่วยมองชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ว่ามีคุณค่าและสูงราคากว่าวัตถุ บ้านนี้เมืองนี้ก็ต้องมีถั่วงอกกับหัวไฟกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกเป็นหมื่นเป็นแสนล้านตัวละครอย่างไม่มีวันสิ้นสุดในโลกความจริง

การที่เด็กเร่ร่อนกำลังถูกหลอมรวมไปในสังคมอันล้มเหลวบนพื้นฐานของโลกที่กำลังบ้าคลั่งนี้ ทำให้ “แก่นแท้ของขุมพลังแห่งวัยสร้างสรรค์” ถูกห่อหุ้มไปด้วยเปลือกนอกของวิธีการ “เอาตัวรอด” ที่ไม่อาจแปลความได้ว่าผิดหรือถูก รุนแรงหรืออ่อนโยน และผู้เขียนก็ไม่สามารถตัดสินแทนได้ว่า วิธีการเล่าเรื่องของ “ถั่วงอกกับหัวไฟ” กำลังบอกอะไรกับเราผู้อ่านทุกคน หากแต่ทุกอารมณ์ของตัวละครที่เกิดขึ้นนั้น คงไม่ต่างไปจากอารมณ์ของเด็กเร่ร่อนผู้ด้อยโอกาสที่กำลังถูกกดดันจากสังคมที่บ้าคลั่งนี้อย่างแน่นอน

กับการเดินทางครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้าในเส้นทางที่ใครหลายคนต่างก็ตั้งตารอกันมานานนับปี ส่วนตัวของผู้เขียนเองก็ขอบอกว่าจะไม่ยอมพลาดเช่นกัน สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้การเดินทางครั้งใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นของทั้งสามได้มีแต่ความสุข สดใส สมวัยของถั่วงอกกับไฟและบุบบิบไปตลอดทาง